E-co Business..เขียว ช่วยโลก ธุรกิจรอด !!
14 ธันวาคม 2564
E-co Business..เขียว ช่วยโลก ธุรกิจรอด !!
ภัยธรรมชาติที่เล่นงานโลกหนักขึ้นท่ามกลางโจทย์ธุรกิจที่ยากสาหัสขึ้นเรื่อยๆทำให้ E-co Businessอาจกลายมาเป็นทางรอดชี้ชะตาผู้ประกอบการอนาคต
สัมมนา จับตามองธุรกิจสีเขียว E-co Business : Trend and Future
ธุรกิจสีเขียว ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เราสามารถลดต้นทุนได้ มีผลกำไรเพิ่มขึ้น แข่งขันได้ในตลาด ส่งสินค้าไปขายในประเทศยุโรปและอเมริกาซึ่งเข้มงวดในเรื่องนี้ได้ เราไม่เคยลดราคาสินค้าเลย แต่กลับได้กำไรมากขึ้น....นี่จึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจในอนาคต
หนึ่งในคำยืนยันจาก เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนา จับตามองธุรกิจสีเขียว E-co Business: Trend and Future ที่ผ่านมา
เขาคือ ผู้ทำให้กิจการหลักร้อยล้านบาทในอดีต ก้าวสู่หลักพันล้านในวันนี้ ด้วยวิธีคิด ธุรกิจต้อง กรีน ตั้งแต่ต้นจนสุดปลายน้ำ
อำพลฟูดส์ คือผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูป โปรดักส์ที่ทำให้ทุกคนรู้จักพวกเขาดีก็คือ กะทิชาวเกาะ เกรียงศักดิ์ ยอมรับว่า ในตอนเริ่มธุรกิจเขาเองก็เหมือนผู้ประกอบการทั่วไป ที่ยังใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย และไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ของเสียเปล่าจำนวนมาก ถูกทิ้งจากโรงงานไปอย่างน่าเสียดาย
ตอนนั้นราคาน้ำมันเตายังถูกมาก วัตถุดิบก็ยังไม่แพง สิ่งที่เราทำคือแค่ปรับประสิทธิภาพขององค์กรเพื่อให้อยู่รอดก่อนเท่านั้น ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการหาพลังงานทดแทน หรือลดต้นทุนอะไรมากมาย ก่อนหน้านี้เราจึงมัวแต่มุ่งไปเพิ่มยอดขาย ซึ่งเหนื่อยมาก เพราะบางครั้งกำไรไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย
นั่นคือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ หลายธุรกิจก็กำลังตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกัน
จนเมื่อกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาอำพลฟูดส์ต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐานต่างๆ พวกเขาเริ่มทำเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะไม่ทิ้งของเสียออกจากโรงงาน เลือกวิธี Reduce, Reuse และ Recycle เพื่อลดการใช้ นำมาใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่
อย่างการหมุนเวียนใช้น้ำทิ้งในโรงงาน ทำโครงการธนาคารขยะ เพื่อแยกขยะให้ได้ทุกประเภท การใช้เปลือกมะพร้าวเหลือทิ้งมาเป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเตา ประหยัดเงินได้เบาๆ
แค่ปีละกว่า 30 ล้านบาท !
พัฒนาไปจนสามารถนำของเหลือทิ้งจากโรงงานมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ได้แล้วในวันนี้
ความเป็นกรีนของ�อำพลฟูดส์�ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในโรงงานเท่านั้น หากพวกเขายังใส่ใจกระทั่งวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้า โดยมุ่งพัฒนาไปสู่การใช้ผลผลิต ออร์แกนิค อย่างมะพร้าวออร์แกนิค ข้าวออร์แกนิค� มาผลิตเป็นสินค้าคุณภาพ ที่น่าสนใจกว่านั้น คือยืนยันที่จะขายในราคาเท่าเดิม
เพื่อเป้าหมาย คืนสิ่งดีสู่ผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ผลกำไรมหาศาลในโลกธุรกิจ
เวลาเดียวกับการปรับโรงงานให้เป็นสีเขียว ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าของพวกเขาได้เพิ่มปริมาณขยะให้กับโลก สิ่งที่พอทำชดเชยกันได้ คือคลอด โครงการกล่องวิเศษ รวบรวมกล่องเครื่องดื่มจากโรงเรียนต่างๆ มาทำเป็นแผ่นกระดานชิปบอร์ด เพื่อนำไปผลิตเป็นโต๊ะนักเรียน บริจาคให้โรงเรียนที่ขาดแคลน โดยทำไปแล้วกว่า 5,000 จุด และในปีนี้พวกเขาตั้งเป้าให้ได้มากถึง 8,400 จุด
เรื่องเหล่านี้ในไทยอาจไม่เห็นคุณค่า แต่ต่างประเทศเขาให้ความสำคัญมาก อนาคตถ้าจะส่งสินค้าไปอียู ต้องทำเรื่องคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ไม่อย่างนั้นก็เข้าประเทศเหล่านี้ไม่ได้
ในยุโรปและอเมริกา น้ำมะพร้าวของเราขายดีมาก ซึ่งจุดขายไม่ได้อยู่ที่น้ำมะพร้าวมีประโยชน์อย่างไร แต่เขาชอบที่เรานำทุกส่วนของมะพร้าวมาใช้ประโยชน์สูงสุด กระทั่งไปผลิตเป็นโต๊ะนักเรียนให้กับเด็กๆ นี่เป็นจุดขายที่เขามองเห็นในสินค้าของเรา
สำหรับเกรียงศักดิ์�E-co Business�ไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจ แต่คือ ทางรอด ที่พิสูจน์กับธุรกิจของพวกเขามาแล้ว
ตั้งแต่ปีที่เราเริ่มทำเรื่องพวกนี้ จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าค่าแรง ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เราไม่เคยปรับราคาสินค้าเลย ทว่ายังคงได้กำไรเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างมาก ยอดขายเราเพิ่มขึ้นทุกปี จากปีละไม่กี่ร้อยล้าน ปี 2548 เราอยู่ที่ 700 ล้านบาท และปัจจุบันยอดขายอยู่ที่ 2,400 ล้านบาทแล้ว นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยที่เราไม่ได้เอายอดขายเป็นตัวตั้ง แต่เอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง
นี่คือวิธีคิด ของผู้ประกอบการที่ทำเรื่องธุรกิจสีเขียว�และเห็นผลดีคืนสู่กิจการแบบเป็นรูปธรรม
ในมุมมองของเขา การจะทำให้ธุรกิจกรีนเกิดได้ในประเทศไทย แรงขับเคลื่อนสำคัญคือ ผู้บริโภค ที่ตระหนักในคุณค่าของสินค้าสีเขียว เมื่อความต้องการมีมากขึ้น ผู้ประกอบการหันมาสู่วิถีสีเขียวมากขึ้น
วันหนึ่งราคาสินค้าที่เคยสูงก็จะลดลงมาเป็นราคาปกติได้
ปีหน้าเราจะก้าวสู่ออร์แกนิคก็จริง แต่จะขายสินค้าในราคาปกติ ที่พยายามทำเช่นนี้ เพราะว่า เมื่อไรที่ผู้บริโภคยังคิดว่าต้องจ่ายแพงกว่าธุรกิจสีเขียวก็จะเกิดยากขึ้น
นั่นคือความคิดของผู้ผลิต แต่กับ ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a Day ในฐานะคนทำสื่อหัวใจสีเขียว และผู้บริโภคคนหนึ่ง เขายังเชื่อว่า สินค้ากรีนราคาแพงได้ ถ้าเพียงผู้คนเห็นประโยชน์เท่านั้น
ทำไมสินค้ากรีนจะแพงไม่ได้ เพราะอย่างเวลาเราซื้อเสื้อผ้า หรือรถยนต์ เราก็ไม่ได้ซื้อเพราะมันถูกที่สุด ผมคิดว่าสินค้ากรีนแพงกว่าสินค้าปกติได้ ถ้าเราเห็นประโยชน์
ทรงกลดเชื่อว่า ผู้คนยุคนี้ความคิดเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขามองเรื่องของกรีน เป็นความทันสมัย เป็นไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนคิดว่าดี ไม่ใช่ดีแค่เปลือก แต่ดีไปถึงแก่นข้างใน และอยากสนับสนุนธุรกิจที่ดีมากยิ่งขึ้น
ผู้บริโภคเป็นคนขับเคลื่อนให้ธุรกิจต้องปรับตัว ก็เหมือนที่บริษัท แอปเปิ้ล มีความเชื่อว่า ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ หรอกว่าต้องการอะไร จนกว่าจะมีของสิ่งนั้น ผมมองว่านักธุรกิจต้องไปให้ไกลกว่านั้น ไปให้ไกลกว่าผู้บริโภค ทำในสิ่งที่คิดว่าเขาจะชอบและทำให้ดีขึ้นมา
ในประเทศอังกฤษ ผู้ประกอบการสังคม มีอยู่ในทุกที่ การทำธุรกิจเพื่อดูแลรักษาโลกให้ดีขึ้นเขามีในทุกองค์กร โดยไม่สนใจว่าองค์กรนั้นจะทำอะไร ผมมองว่า การแก้ปัญหาโลก ไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือทุกคน เพื่อให้ธุรกิจสีเขียวอยู่ได้ อยู่รอด และยั่งยืน
ในมุมมองของ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิสีเขียว ยังเชื่อว่าE-co Businessคือคำตอบที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ เธอเชื่อว่าการพัฒนาในโลกธุรกิจและการอนุรักษ์สามารถไปด้วยกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดว่าธุรกิจต้องรวยก่อนจึงค่อยอนุรักษ์
"สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้คือต้องผลักดันนโยบายระดับชาติให้เกื้อหนุนผู้ประกอบการสีเขียว เลิกอุดหนุนผู้ประกอบการสีเทา หรือดำ และเมื่อพบว่าธุรกิจสีเขียวให้ผลกำไรที่ดีกว่า อาจสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาสู่วิถีนี้มากขึ้น เพราะถ้าคนที่เลือกทำธุรกิจสีเขียวจะมีเพียงคนกลุ่มน้อย 5-10% ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่ได้มากนัก เราจึงต้องทำให้ระบบใหญ่ อีก 90% หันมาทางเดียวกันนี้ให้ได้
นั่นคือความหวังของพวกเขา กลุ่มคนที่เชื่อว่าสิ่งที่ดีไปกว่าความมั่งคั่งของกิจการ คือ การอยู่ร่วมกับโลกใบนี้อย่างมีความสุข
ด้วยการทำธุรกิจที่ไม่ทำลายโลกและสิ่งแวดล้อม
ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โพสเมื่อ:
ผู้ชม: 1511
Tweet