ภาษา
ปรับขนาดตัวอักษร
เข้าสู่ระบบ
ข่าวทั่วไป
ไร่ปลูกรัก โมเดลธุรกิจพิชิตตลาดออร์แกนิค
14 ธันวาคม 2564
ไร่ปลูกรัก โมเดลธุรกิจพิชิตตลาดออร์แกนิค เป็นผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ง่าย คิดจะเติบใหญ่ในเส้นทางนี้ต้องมองให้ขาดชนิด 360 องศา เช่นเดียวกับ ไร่ปลูกรัก กานต์  ฤทธิ์ขจร  ผู้ก่อตั้ง ไร่ปลูกรัก           ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิค  ไล่มาจนผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ แม้จะถูกพูดถึงกันมาก แต่ในโลกธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างรู้ดีว่า ไม่ใช่ชิ้นเค้กที่หวานหมู เพราะคนยังไม่ค่อยเข้าใจความแตกต่างกับ “ผักปลอดสาร” กลายเป็นอุปสรรคพื้นๆที่ปิดทางโตของพวกเขา ทำให้ผลิตภัณฑ์ “ออร์แกนิค” ถูกเมินเฉยจากตลาด มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่โจทย์หินๆ แบบนี้ มีผู้ประกอบการไทยพิชิตมันมาแล้ว ถึงวันนี้ผ่านมา 11 ปี พวกเขาก็ยังยืนหยัดอยู่ในธุรกิจได้อย่างสง่างาม เรากำลังพูดถึง “ไร่ปลูกรัก” ผลิตผลจากความตั้งใจดีของคู่รัก “กานต์ ฤทธิ์ขจร” และ “อโณทัย ก้องวัฒนา” ที่ทำตั้งแต่ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรธรรมชาติ   ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคทั้งผักสดและแปรรูป จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดกับธุรกิจให้คำปรึกษาด้านฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่กำลังไปได้สวย มาเรียนรู้วิธีคิดและเส้นทางโตที่ไม่ธรรมดาของพวกเขา จุดเริ่มต้นของ “ไร่ปลูกรัก” มาจากร้านอาหารเล็กๆ ที่ชื่อ “อโณทัย” แนวคิดของพวกเขาคืออยากทำร้านอาหารที่มีวัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิค  และเพื่อให้ชัวร์เรื่องแหล่งวัตถุดิบ พวกเขาเลยใช้ที่ดินของตนเองที่มีอยู่ประมาณ 60ไร่ ใน จ.ราชบุรี มาปลูกผักออร์แกนิค  เพื่อป้อนร้านอาหารเป็นหลัก ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ปลูกพืชผักแบบไร้สารพิษ ปราศจากยาฆ่าแมลง และปลอดสารเคมีทุกชนิด ด้วยระบบการรักษาสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม เรียกง่ายๆ ว่าให้ธรรมชาติดูแลกันเอง พวกเขาจึงมีวัตถุดิบที่ดีป้อนให้กับร้านอาหารไม่ขาดสาย แต่ที่ดินจำนวนมากยังทำอะไรได้มากกว่านั้น “ถ้าปลูกผักป้อนร้านอาหาร แค่ตารางเมตรเดียวก็กินกันแทบไม่หมดแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราคิดผลิตเพื่อขาย และกลายเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากผักสดเป็นหลัก และเป็นผักออร์แกนิคที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระบบสากล (IFOAM Accredited)” จนตอนนี้ ผักคุณภาพดี ไม่มีสารพิษ ที่แจ้งเกิดจากแค่ร้านอาหารเล็กๆ ได้ขยายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำกว่า 60 แห่ง ดังนั้น อุปสรรคจึงไม่ได้อยู่ที่หน้าร้าน หากอยู่ตรง “ความเข้าใจ” ของผู้บริโภค “เมื่อ 5-10 ปีที่ผ่านมา ออร์แกนิกเป็นเรื่องไม่ธรรมดา คนไม่เข้าใจ ไม่กล้าซื้อ ที่ซื้อก็บ่นว่าแพง เพราะเขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร บางคนก็งงๆ คิดว่าออร์แกนิกกับปลอดสารก็เหมือนๆ กัน เลยไปหยิบปลอดสารเหมือนเดิม จึงเกิดปัญหาทางการตลาดขึ้น เราเลยคิดเปิดไร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค” อุปสรรคชิ้นโต ได้สร้างโอกาสใหม่ให้กับพวกเขา กลายเป็นที่มาของ “ไร่ปลูกรัก” แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรธรรมชาติ กานต์บอกว่า ครั้นจะเปิดไร่ให้คนเข้ามาดูเฉยๆ ก็ดูจะน่าเบื่อ จึงมาคิดพัฒนากิจกรรม เพื่อให้ผู้คนได้สนุกกับการมาไร่ และได้เรียนรู้โลกของออร์แกนิคไปพร้อมกันด้วย             กิจกรรมเก๋ๆ อย่าง “Organic Family Day -เรียนรู้และสนุกหนึ่งวันในไร่ปลูกรัก” จึงคลอดออกมา พร้อมๆ กับสารพัดความสนุกที่พร้อมเสิร์ฟสมาชิกครอบครัวหรรษา อย่างการทำเครื่องดื่มดอกไม้ สลัดสูตรสมุนไพรออร์แกนิค คุกกี้และไอศกรีมโฮมเมด เก็บไข่เป็ดและทำไข่เค็มออร์แกนิค กิจกรรมสำรวจแมลง “จับ ดู รู้ ปล่อย” การทำของเล่นและกิจกรรมศิลปะจากธรรมชาติ  ฟังดนตรีอะคูสติก ปลูกผักคลายโลกร้อน นำไปฟูมฟักต่อที่บ้านได้ด้วย และทำปุ๋ยน้ำชาง่ายๆ สูตรไร่ปลูกรัก เหล่านี้เป็นต้น “          หัวใจของเกษตรอินทรีย์ คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม การปรับ Eco System ต่างๆภายในไร่ ทั้งในอากาศ พื้นดิน และในน้ำ เป็นธรรมชาติที่เกื้อกูลกัน เรามาออกแบบกิจกรรมที่จะทำให้คนเกิดความเข้าใจ และสนุก เพราะการเรียนรู้ถ้าน่าเบื่อก็จะไม่เข้าถึงใจคน”            จากผักสด สู่กิจกรรมท่องเที่ยว ต่อยอดมาที่ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ข้อดีของการทำให้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคยังทำให้มีมาตรฐานสากลตั้งแต่ต้น  วันนี้มีผลิตผลมากมายจากไร่ปลูกรัก ไปงดงามอยู่ในตลาดส่งออก โดยเฉพาะยุโรป ไม่ว่าจะเป็น น้ำจิ้ม น้ำยำ น้ำส้ม น้ำสลัด ซึ่งล้วนเป็นออร์แกนิคทั้งสิ้น การเข้าหาลูกค้าก็อาศัยติดสอยห้อยตามหน่วยงานภาครัฐไปโรดโชว์ในต่างประเทศตามโอกาสอำนวย            ไอเดียดีๆ ยังไม่มีจบเพียงเท่านี้ เพราะสิ่งที่เป็นต้นทุนสำคัญของคนทำฟาร์มออร์นิกมากว่า 10 ปี คือ “ทุนความรู้” พวกเขาจึงต่อยอดมาสู่ “ธุรกิจให้คำปรึกษา” เจาะกลุ่มเป้าหมายเล็กๆ ภายในครอบครัว ไปจนกลุ่มเกษตรกรสหกรณ์,บริษัท,โรงเเรม,รีสอร์ท,สปา และหน่วยงานราชการ ซึ่งค่าบริการเขาบอกว่า ขึ้นกับแต่ละโปรเจกที่แตกต่างกันไป เรียกว่าตั้งแต่ทำกินกันเองในบ้าน เป็นจนถึงขั้นป้อนตลาดส่งออก “          เราให้คำปรึกษาตั้งแต่ แบบฟาร์มเดี่ยว แบบโครงการ และแบบครอบครัวเล็กๆ ซึ่งรายได้ไม่เยอะมาก เป็นแค่หนึ่งในธุรกิจ ไม่ได้เป็นรายได้หลักเหมือนส่งออก แต่ผมมองว่าการทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องมีการขับเคลื่อน ถ้าเราพอจะช่วยอะไรได้ก็ต้องช่วยกัน เพื่อให้ตลาดมันเกิด ธุรกิจถึงจะอยู่ได้”           แม้จะบอกว่ารายได้ไม่ถึงกับดีมากนัก แต่งานที่ปรึกษาก็ยังคงเข้ามาอยู่เรื่อยๆ อย่างโปรกเจกขนาดใหญ่ที่ทำให้กับสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการพัฒนาฟาร์มออร์แกนิคให้กับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น            ในมุมของคนทำธุรกิจ พวกเขาบอกว่า ตลาดออร์แกนิกยังคงสดใส โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ เหล่านี้อย่างล้นเหลือ ออร์แกนิกเป็นเทรนด์ของโลก และคนไทยเองก็หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ขณะที่คู่แข่งก็ไม่ได้เยอะมากนัก แต่ที่ผู้ประกอบการต้องคิดให้หนัก คือคำพูดที่เขาฝากไว้ว่า… “          ธุรกิจนี้ ทำแล้วให้อยู่ได้...เลือดตาแทบกระเด็น แต่ที่เราอยู่ได้ผมว่ามันอยู่ที่ การตลาด แล้วก็ความน่าเชื่อถือ ถ้าการตลาดเจ๋งแค่ไหน แต่การผลิตไม่ดี ไม่มีความน่าเชื่อถือในแบรนด์และในมาตรฐานที่มี ธุรกิจมันก็ไปได้ยาก” อีกหนึ่งวิธีคิด สู่ทางรุ่งในธุรกิจแห่งอนาคต ที่ชื่อ  “ออร์แกนิค” ขอบคุณเนื้อหาและรูปภาพจาก : http://www.bangkokbiznews.com โพสเมื่อ: ผู้ชม: 2866 Tweet